วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย



บทที่1เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
โครงสร้างเศรษฐกิจไทย

1.  โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก่อนใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ก่อนที่ประเทศไทยจะประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ  ฉบับที่  1  (พ.ศ. 2504-2509)โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยมีสภาพดังนี้

               1.1  เศรษฐกิจแบบยังชีพเศรษฐกิจไทยสมัยสุโขทัย  สมัยอยุธยา  และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบยังชีพ  โดยผลิตอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ พอกินพอใช้ภายในครอบครัวและหมู่บ้าน  เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงนำไปค้าขายแลกเปลี่ยนยังหัวเมืองและประเทศใกล้เคียง

               1.2  เศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเศรษฐกิจแบบการค้าและใช้เงินตรา  เกิดขึ้นภายหลังประเทศไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษเมื่อ  พ.ศ. 2398  สมัยรัชกาลที่  4 และกับชาติตะวันตกอื่น ๆ ในเวลาไล่เลียกัน  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย ดังนี้

                         (1)มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวางมีเรือสินค้าต่างชาติเดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ เพิ่มจำนวนมากขึ้นหลายเท่าตัว

                         (2)ยกเลิกระบบการค้าผูกขาดและเปลี่ยนมาเป็นระบบการค้าเสรีการผูกขาดการค้าของหน่วยราชการที่เรียกว่า  “พระคลังสินค้า”  ต้องยุติลง  พ่อค้าชาวอังกฤษและชาติตะวันตกอื่น ๆ สามารถซื้อขายสินค้ากับพ่อค้าไทยได้โดยตรง  เป็นผลให้ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับชาติตะวันตกขยายตัวกว้างขวาง

                         (3)ระบบการผลิตแบบยังชีพ  เปลี่ยนมาเป็นระบบการผลิตเพื่อการค้าข้าวกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทย ชาวนาขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตลาดโลก

                         (4)  ความต้องการใช้แรงงานทำงานในไร่นามีมากขึ้น  ทำให้ราชการต้องลดหย่อนการเกณฑ์แรงงานไพร่โดยให้จ่ายเป็นเงินค่าราชการแทน เพื่อให้ราษฎรมีเวลาทำงานในไร่นามากขึ้น ส่วนงานก่อสร้างของทางราชการ เช่น ขุดคลอง สร้างถนนฯลฯใช้วิธีจ้างแรงงานชาวจีนแทน

                         (5)  เกิดระบบเศรษฐกิจแบบใช้เงินตรามีการจัดตั้งโรงงานกษาปณ์ในปี พ.ศ. 2403เพื่อใช้เครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์  แบบประเทศตะวันตก  และยกโลกเงินพดด้วงแบบเดิมซึ่งปลอมแปลงได้ง่าย  ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าทำได้สะดวกคล่องตัวยิ่งขึ้น

                1.3  เศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยรัฐเกิดขึ้นระหว่าง  พ.ศ. 2475-2504 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. 2475  ในสมัยรัชกาลที่  7  ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกยังคงดำรงอยู่ตลอดรัชกาลซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศไทย  เพราะทำให้การส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลกลดต่ำลง  อันเนื่องมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย  ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด  เช่น  ขายไม้สัก  และดีบุก  ชาวนาและผู้คนส่วนใหญ่ในชนบทจึงยากจน ช่วงสงครามโลกครั้งที่  2  (พ.ศ. 2482-2488)  เกิดภาวะเงินเฟ้อ  ขาดแคลนสินค้าและข้าวของมีราคาแพง  รัฐส่งเสริมการขยายตัวการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น   โดยรัฐเข้าดำเนินการผลิตโดยตรง  เช่น  โรงงานทอผ้า  ยาสูบ  ทำกระดาษ  และโรงงานสุรา  เป็นต้น  จึงเรียกว่าเป็นยุคเศรษฐกิจแบบชาตินิยม  หรือเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยรัฐ

2.  โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในยุคที่ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          2.1  ความเป็นมาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่  2  สิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาเป็นชาติผู้นำของโลกทุนนิยมได้สนับสนุนให้ไทยพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทางทุนนิยมโดยผ่านธนาคารโลก  ซึ่งชี้นำให้ประเทศไทยจัดตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ  โดยเน้นให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนามากขึ้น

         2.2  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่  1  (พ.ศ. 2504-2509)จนกระทั้งในปัจจุบันใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 11  (พ.ศ. 2555-2559)  ผลจากการใช้แผนพัฒนาดังกล่าวมาเป็นเวลา  50  ปี  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย  ดังนี้

(1)  ผลผลิตภาคการเกษตรลดปริมาณลงแต่มีการกระจายหรือเพิ่มชนิดขึ้น  แต่เดิมมีเพียงข้าว  ไม้สัก  และยางพารา  ต่อมามีสินค้าออกเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด  เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย  และผลไม้ต่าง ๆ  เป็นต้น

(2)  ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการบริการ  (ธนาคารพาณิชย์  การท่องเที่ยว โรงแรม)  เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร  ขณะเดียวกันมีการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น

(3)  การค้าระหว่างประเทศขยายตัวมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งสินค้าออกและสินค้าเข้า   สินค้าออกมีหลายชนิดมากขึ้นแต่เดิมเป็นผลผลิตทางการเกษตร  แต่ในปัจจุบันเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น  ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์  อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้า

3.  ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic  Development)หมายถึง กระบวนการสร้างความเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน  มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ  โดยมีเป้าหมายเพื่อลดหรือขจัดปัญหาความยากจน  การว่างงาน  การกระจายรายได้  พร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการของสังคมไปในทางที่ดีขึ้น  โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นและต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เพื่อสงวนทรัพยากรไว้ตอบสนองความจำเป็นของคนรุ่นต่อไปในอนาคตของการพัฒนาที่ยั่งยืน

4.เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชน  ดังนี้

4.1  พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี  หรือมีสวัสดิการทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

4.2  มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดี  มีสวัสดิการทางสังคม  หรือมีความปลอดภัยในสังคม

4.3  มีความพอใจและความสุขในการดำเนินชีวิต 4.4  สร้างความเป็นธรรมในสังคม

5.ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน  เพราะสาเหตุดังนี้

                  5.1  การเพิ่มของจำนวนประชากรซึ่งไม่สมดุลกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงจำเป็นต้องพัฒนาคนและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดีหรือมีสวัสดิการทางเศรษฐกิจสูงขึ้น  มีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบาย  ได้ใช้สินค้าดีราคาไม่แพง  และมีบริการสนองความต้องการอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ  เช่น  การคมนาคมขนส่ง  การสื่อสาร  ที่อยู่อาศัย  ฯลฯ                           5.2 โครงสร้างทางเศรษฐกิจ  สังคม  และการเมือง มีลักษณะผูกขาดโดยคนส่วนน้อย เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม  และมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  รัฐสามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากขึ้นอย่างมีคุณภาพ  เช่น  คนยากจน  คนพิการ  เด็กกำพร้า  คนชรา  คนว่างงาน  และผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ  เป็นต้น

                  5.3  ระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทยเป็นระบบเปิด คือ  ต้องพึ่งทุนและการค้ากับต่างประเทศ  รวมทั้งเปิดกว้างรับเทคโนโลยี  การสื่อสาร  วัฒนธรรม  การศึกษา  และการปริโภคจากโลกตะวันตกอย่างเต็มที่  ทำให้สังคมไทยต้องเร่งพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกได้  เพื่อมิให้ถูกเอาเปรียบ ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วส่งผลให้มีความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร  มีกองทัพที่เข้มแข็ง  ทำให้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจหรืออิทธิพลของชาติมหาอำนาจ

                5.4  การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  เช่น  ภัยแล้ง  อุทกภัย  วาตภัย  และภัยจากธรณีพิบัติ  (แผ่นดินไหวและสึนามิ)  เป็นต้น  รวมทั้งการเกิดโรคระบาด  เช่น  ไข้หวัดนก  ไข้เลือดออก  ฯลฯ  ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วส่งผลให้มีความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร  มีกองทัพที่เข้มแข็ง  ทำให้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจหรืออิทธิพลของชาติมหาอำนาจ ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าจะเกิดผลดีต่อประชาชน  คือ

                      (1)  มีมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพสามารถควบคุมวิกฤตจากภัยธรรมชาติให้บรรเทาลงได้

                      (2)  ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีและช่วยให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย  เช่น  มีงบประมาณสร้างเขื่อนประตูระบายน้ำ  ศูนย์เตือนภัย  และสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้ผู้ประสบภัยพิบัติ  เป็นต้น

             5.5  ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนามีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์พื้นฐาน  อันเนื่องมาจากปัญหาความยากจน  ทำให้ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  รวมทั้งปัจจัย  4  ในการดำรงชีพ  และไม่อาจเลือกอาชีพการงานได้ ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าส่งผลให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ดี  มีกำลังซื้อสูง  ทำให้มีอิสระในการดำเนินชีวิตมากขึ้น  เช่นมีอิสระในการเลือกอาชีพตามความถนัดและความสนใจ  ทำให้ชีวิตมีสุข

6.ปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเกิดจากความได้เปรียบในปัจจัยสำคัญ  2  ประการ  คือ

           6.1  ปัจจัยทางเศรษฐกิจ  มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง  สรุปได้ดังนี้

                  (1)  ที่ดิน  มีพื้นที่ประเทศกว้างใหญ่  มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์  มีแม่น้ำสายยาว  หลายสายไหลผ่านพื้นที่เพาะปลูก  มีทรัพยากรป่าไม้  แร่ธาตุ  และมีทรัพยากรนันทนากร  (แหล่งท่องเที่ยว) อย่างอุดมสมบูรณ์

                   (2)  แรงงาน   มีประชากรมีคุณภาพ  มีการศึกษาดี  มีระเบียบวินัย  และเคารพกฎหมายของบ้านเมือง  เป็นแรงงานมีฝีมือซึ่งผ่านการพัฒนาฝึกฝนทักษะเป็นอย่างดี

                   (3)  ทุน   มีเครื่องมือ  เครื่องจักร  และนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย  มีสาธารณูปโภคและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ  เช่น  ถนน  ไฟฟ้า  ประปา  การสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง  เป็นต้น  รวมทั้งมีสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ

                   (4)  เทคโนโลยี  มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  โดยนำวิทยาการหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตสินค้าทั้งภาคเกษตร  อุตสาหกรรม  และบริการ

                   (5)  ตลาด  มีตลาดขนาดใหญ่รองรับผลผลิตอย่างกว้างขวาง  ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ  ช่วยกระตุ้นให้การผลิตขยายตัว  เกิดการจ้างงาน  และเกิดธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น  การขนส่งสินค้า  ประกันภัยสินค้า  ทำป้ายโฆษณา  สิ่งพิมพ์  กล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์

       6.2  ปัจจัยทางสังคม  และการเมืองการปกครอง   เป็นปัจจัยสนับสนุนให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  ดังนี้

                    (1)  สถาบันครอบครัว   มีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง   มีความสามารถในการเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวและให้การศึกษาอบรมอย่างมีคุณภาพ

                   (2)  โครงสร้างทางสังคมชนชั้นในสังคมไม่ยึดมั่นตายตัว  ชนชั้นล่างหรือกลุ่มคนระดับรากหญ้าสามารถเปลี่ยนหรือเลื่อนฐานะทางสังคมได้ง่ายจากการศึกษาและอาชีพ  ทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น  เช่น  วิศวกร  ช่างฝีมือ  โปรแกรมเมอร์  ฯลฯ ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

                   (3)  การเมืองการปกครอง และกฎหมายเป็นประเทศที่มีลักษณะดังนี้ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง  บ้านเมืองสงบเรียบร้อย  ไม่มีปัญหาความขัดแยงทางการเมืองภายในอย่างรุนแรง  และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ มีกฎหมายส่งเสริมการลงทุน  คุ้มครองแรงงาน  คุ้มครองผู้บริโภค  และสนับสนุนเกษตรกรในด้านราคาผลผลิต  เป็นต้น

7.เครื่องชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมและมีเสถียรภาพ  ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงเฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มสูงขึ้น  และท้ายที่สุดทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น  โดยสามารถวัดการพัฒนาเศรษฐกิจจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความอยู่ดีกินดีของประชาชน  ดังนี้          

            7.1ดัชนีวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแสดงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  เช่น  ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  รายได้ประชาชาติ  เป็นต้น

           7.2  ดัชนีวัดความอยู่ดีกินดีของประชาชนแสดงถึงระดับความเป็นอยู่ของประชาชน  เช่น  อัตราการอ่านออกเขียนได้  อายุเฉลี่ยของประชากร  อัตราการตายของทารก  อัตราส่วนของแพทย์ต่อจำนวนประชากร  เป็นต้น ทั้งนี้ดัชนีชีวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  เป็นดัชนีพื้นฐานเบื้องต้นที่จะสะท้อนภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ  ดังนี้

                         (1)  ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  (Gross  Domestic  Product  : GDP) เป็นตัวชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่นิยมใช้มากที่สุด  เพราะแสดงถึงความสามารถในการผลิตและการบริโภคของประเทศ  โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเป็นมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย  ซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้ทรัพยากรภายในประเทศในรอบระยะเวลา  1  ปี      

GDP : มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นโดยคนไทยและชาวต่างชาติโดย                                                      ใช้ทรัพยากรของประเทศไทย

                        (2)  ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  (Gross  National  Product  : GNP)

แสดงถึง ความสามารถในการผลิต  การบริโภคของคนไทยทั้งประเทศ  โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเป็นมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย  ซึ่งผลิตขึ้นโดยคนไทยในประเทศและคนไทยในต่างประเทศ

GNP :GDP + รายได้สุทธิจากปัจจัยการผลิตต่างประเทศ

                         (3)  รายได้ประชาชาติ  (National  Income  : NI)คือ  มูลค่าของรายได้ที่ประชาชน คนไทยในประเทศและคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศได้รับในช่วงระยะเวลา  1  ปีทั้งนี้รายได้ประชาชาติคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  หักด้วยภาษีทางอ้อมและค่าเสื่อมราคา

NI : GNP – (ภาษีทางอ้อม + ค่าเสื่อมราคา)

                        (4)  รายได้เฉลี่ยต่อบุคคล  (Per  Capita Income)คำนวณได้จากรายได้ประชาชาติ

หารด้วยจำนวนประชากร  ซึ่งใช้เป็นดัชนีสำหรับเปรียบเทียบระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชนของประเทศต่าง ๆ

การวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของการวัดการพัฒนาเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น  อย่างไรก็ตาม  ในปัจจุบันมีแนวคิดการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross  National  Happiness  :  GNH)  ขึ้น  เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว  จนละเลยความสุขซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  ทั้งนี้ยังไม่มีดัชนีวัดความสุขมวลรวมประชาชาติที่แน่นอนหรือชัดเจนในขณะนี้  แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนมากกว่าการมุ่งเน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประเทศที่เป็นผู้นำเสนอแนวคิดการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross  National  Happiness  :  GNH)  ขึ้นคือ  ประเทศภูฏาน  โดยมีหลักการสำคัญ  4  ประการ  คือ

1)  การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

2)  การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรม

3)  การรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

4)  การมีธรรมาภิบาล

8.  ความหมายและความเป็นมาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

               8.1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคือ  การกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  โดยการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ

              8.2  ความเป็นมาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศไทยได้มีการริเริ่มจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติมาตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2502  ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์   โดยในปี พ.ศ. 2504  ได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกขึ้น  ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 มีระยะเวลาของแผน  6  ปี  โดยที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อ ๆ มา มีระยะเวลาของแผน  5  ปี หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผน  คือ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  โดยปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11  (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับมีดังต่อไปนี้

9.แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา

           9.1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่1   (พ.ศ. 2504-2509)สาระสำคัญ  มีดังนี้

(1)  เน้นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ  ได้แก่  ทางหลวงแผนดิน  ทางรถไฟ  ประปา  ไฟฟ้า  และ เขื่อนชลประทาน เช่น เขื่อนภูมิพล  เขื่อนอุบลรัตน์

(2)  ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนในภาคอุตสาหกรรม  เพื่อทดแทนการนำเข้า

(3) จัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค  คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯเศรษฐกิจขยายตัวสูง  มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น  แต่เกิดปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม  เพราะผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเป็นคนส่วนน้อยที่อยู่ในเมืองและเป็นผู้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ

            9.2 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2  (พ.ศ. 2510-2514)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ  คล้ายแผนฯฉบับที่  1

(2)  สนับสนุนการลงทุนของชาวต่างชาติ  และพัฒนาการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรม

และอุตสาหกรรม

(3)  มุ่งพัฒนากำลังคนเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ  โดยกระจายการศึกษาและการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง  และเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯการกระจายรายได้ยังกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนน้อย

       9.3แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3  (พ.ศ. 2515-2519)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นการพัฒนาสังคมมากขึ้น  ทั้งการศึกษา  การอนามัยและสาธารณสุข

(2)  กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเพิ่มของประชากรเป็นครั้งแรก ให้เหลือร้อยละ 2.5  ต่อปี  เมื่อสิ้นแผนฯ

(3)  กระจายความเจริญสู่ชนบทให้มากขึ้น  และเน้นการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯเกิดปัญหาอุปสรรคในเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ  (ฝนทิ้งช่วง)

การขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่  และความผันผวนทางการเมือง  โดยเกิดเหตุการณ์ 14  ตุลาคม  พ.ศ. 2516

และเหตุการณ์  6  ตุลาคม  พ.ศ. 2519  ทำให้เศรษฐกิจของประเทศซบเซาและมีการว่างงานสูง

  9.4แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4  (พ.ศ. 2520-2524) สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ  เพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่  3  โดยพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร  อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  ส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน

(2)  ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

(3)  เน้นสร้างความเป็นธรรมในสังคม  โดยเน้นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯการพัฒนาทั้งภาคอุตสาหกรรม  การค้า  และการบริการ  ขยายตัวตามเป้า  การขึ้นราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปค(OPEC)  ทำให้สินค้ามีราคาแพงและเกิดเงินเฟ้อ  รายจ่ายภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น  ทำให้เกิดปัญหาขาดดุลการค้า

   9.5   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5  (พ.ศ. 2525-2529)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นการพัฒนาชนบท  เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน  โดยขยายบริการพื้นฐานของรัฐไปสู่ชนบทให้มากขึ้น  เช่น  การสาธารณสุข  การสาธารณูปโภค ฯลฯ  แก้ไขปัญหาการว่างงาน และเร่งการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

(2)  ฟื้นฟูฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ลดการขาดดุลการค้า เร่งระดมเงินออม  เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  และกระจายอุตสาหกรรมไปยังส่วนภูมิภาค

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯสรุปได้ดังนี้

(1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด  เนื่องมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก  การแข่งขันและการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

(2)เกิดปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเงิน  เพราะการใช้จ่ายเกินตัวทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน  และขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง

(3)ความเสื่อมโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    9.6   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6  (พ.ศ. 2530-2534)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  ลดหนี้สินต่างประเทศ  ปรับปรุงระบบการผลิตและการตลาด  เพื่อให้การส่งออกสินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมควบคู่กันไป

(2)  เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม  การจ้างงาน และกระจายรายได้  แก้ไขปัญหาความยากจน

(3)  เน้นพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการบริหารในภาครัฐ  เพื่อเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ   และส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯสรุปได้ดังนี้

(1)  ฐานะทางการเงินและการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ  คนไทยมีรายได้และการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น  ภาระหนี้สินของประเทศลดลง  ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

(2)  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าเป้าหมาย  ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งออก การลงทุน  และรายได้จากการท่องเที่ยว  ทำให้เศรษฐกิจไทยเปิดกว้างสู่ระบบเศรษฐกิจสากลมากขึ้น

(3)  ผลกระทบ คือ ความเสื่อมโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ระหว่างคนเมืองและคนในชนบทมีมากขึ้น

  9.7   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7  (พ.ศ. 2535-2539)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน  และสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจควบคู่กับสังคม

(2)  เน้นรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ  โดยพัฒนาการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรม  เกษตรกรรม และการส่งออก

(3)  เน้นการกระจายรายได้และพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบท

(4)  เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  คุณภาพชีวิต  และสิ่งแวดล้อม

(5)  เน้นพัฒนากฎหมาย  รัฐวิสาหกิจ  และระบบราชการ  ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯสรุปได้ดังนี้

(1)  การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย  รายได้ประชาชาติและรายได้เฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น

(2)  การแก้ปัญหาความยากจนและกระจายรายได้ยังไม่ได้ผล  ช่องว่าในรายได้ระหว่างคนเมืองกับคนในชนบทยิ่งห่างกันมากขึ้น

(3)  ความเสื่อโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น   การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ และปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อมขยายตัวอย่างรวดเร็ว

   9.8   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8  (พ.ศ. 2540-2544)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นพัฒนาคน  หรือเน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพความสามารถในด้านต่าง ๆ

(2)  เน้นการพัฒนาที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  สังคม  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะเกิดต่อการพัฒนาคน

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯในช่วงปลายปี  พ.ศ. 2540  ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เกิดการว่างงาน  ธุรกิจล้มละลาย  และปัญหาหนี้สินจากต่างประเทศ  จนนำไปสู่การขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากวิกฤติการณ์ครั้งนี้จึงได้ปรับวัตถุประสงค์และแนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

   9.9   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9  (พ.ศ. 2545-2549) สาระสำคัญ มีดังนี้

(1.)ได้อัญเชิญ  “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ  โดยยึดทางสายกลาง  ความพอประมาณ  และความมีเหตุผล  เพื่อให้ประเทศรอดพ้นวิกฤติและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

(2.)  ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพ  ทั้งภาคการเงินและการคลัง  ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้

(3.)  วางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง  ยั่งยืน  สามารถพึ่งตนเองได้  และรู้เท่ากันโลก  โดยพัฒนาคุณภาพคน  ปฏิรูปการศึกษา  ปฏิรูปสุขภาพ  สร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน  มีการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(4.) แก้ไขปัญหาความยากจน  โดยเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนไทยในการพึ่งพาตนเอง  ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา  การประกอบอาชีพ  การมีรายได้  และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

    9.10 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)มีสาระสำคัญ คือ

แผนพัฒนาฯ  ฉบับที่  10  ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ  ควบคู่กับแนวคิดที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา  เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล  ยั่งยืน และ เป็นธรรม  โดยกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศให้มุ่งสู่  “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

      9.11 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)มีสาระสำคัญ คือ

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11เน้นการพัฒนาให้เกิด “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยความเสมอภาคเป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” ดังนี้
(1.) เร่งสร้างความสงบสุขให้สังคมโดยร่วมมือกันสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบ
สุขส่งเสริมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นหลักปฏิบัติร่วมกันทั้งสังคมพร้อมทั้งเสริมสร้างภาคราชการการเมืองและประชาสังคมให้เข้มแข็งภายใต้หลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน
(2.) มุ่งพัฒนาคนให้มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มั่นคงและ
สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆในโลกได้อย่างต่อเนื่องพัฒนาความสามารถสติปัญญาและจิตใจให้พร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศสู่สังคมฐานความรู้
(3.) เพิ่มชนชั้นกลางให้กระจายทุกพื้นที่ของประเทศเพราะชนชั้นกลางเป็นกำลัง
สำคัญในการประสานประโยชน์และพัฒนาประเทศที่มีความสมดุลพร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกชนชั้นรู้จักหน้าที่ของตนเองและร่วมกันพัฒนาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าและน่าอยู่
(4.) พัฒนาภาคเกษตรให้คงอยู่กับสังคมไทยและผลิตอาหารให้เพียงพอสำหรับทุกคน
เร่งพัฒนาความสามารถของเกษตรกรในการผลิตพืชอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณมากพอที่จะเลี้ยงดูคนในประเทศและส่งเป็นสินค้าออกสนองความต้องการของประเทศต่างๆสามารถเป็นผู้นำการผลิตและการค้าในเวทีโลกรวมทั้งรักษาความโดดเด่นของอาหารไทยที่ต่างประเทศชื่นชอบ
(5.) ปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

10.  ความหมายและความเป็นมาของเศรษฐกิจพอเพียง

      เศรษฐกิจพอเพียง  (Sufficiency  Economy)

หมายถึง  การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดี  พอประมาณ  ซื่อตรง  ไม่โลภมาก  และไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา

เศรษฐกิจพอเพียง  (Sufficiency  Economy)

เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย  โดยมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม  ซึ่งมักจะประสบปัญหาความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ  ฝนตกไม่สม่ำเสมอ   เกิดภาวะแห้งแล้งทั่วไป  ทำให้การทำเกษตรกรรมไม่ได้ผลผลิตดีเท่าที่ควร  พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว  และยกระดับพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรในภาคเกษตรกรรมให้เกิดความพออยู่พอกินและสามารถพึ่งพาตนเองได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัย  ค้นคว้า  สำรวจ  รวบรวมข้อมูล  แล้วทำการทดสอบเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ  ที่ดิน  พันธุ์พืช  เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่ของตนเอง   โดยตั้งเป็น  “ทฤษฎีใหม่”  ใช้หลักการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด  อันเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง  โดยการผสมผสานกิจกรรมพืช  สัตว์  และประมง ให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน  โดยทำการเกษตรในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อให้เกิดความ  “พออยู่พอกิน”  พระองค์จึงนำทฤษฎีดังกล่าวไปทดลองที่วัดมงคลชัยพัฒนา  ตำบลห้วยบง  และตำบลเขาดินพัฒนา  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดสระบุรี  ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2540  ประเทศไทยได้ประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ  เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง  ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม  ผู้ประกอบการหลายแห่งได้ปิดกิจการลง  ทำให้ประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก  ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระราชทานพระราชดำริ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา  โดยนำหลักการและวิธีการที่ใช้ในภาคเกษตรกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยให้รู้จักการดำเนินชีวิตอยู่อย่างพอประมาณ เดินทางสายกลาง  มีความพอดี และพอเพียงกับตนเอง  ดำรงชีวิตแบบพออยู่พอกินและสามารถพึ่งตนเองได้

หลักการเศรษฐกิจพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐาน

ของทางสายกลางและความไม่ประมาท  โดยคำนึงถึงความพอประมาณ  ความมีเหตุผล  การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรม  ประกอบการวางแผน  การตัดสินใจ  โดยมีหลักพิจารณาอยู่ 5  ส่วน  ดังนี้

             1. กรอบแนวคิดเป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น  โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย  สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา  และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  มุ่งเน้นการรอดพ้นจากและวิกฤต  เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

            2.คุณลักษณะ  เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ  โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง  และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

           3.คำนิยามความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย3  คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน  ดังนี้

                       3.1  ความพอประมาณ  หมายถึง  ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  เช่น  การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

                     3.2  ความมีเหตุผล  หมายถึง  การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล  โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

                    3.3  การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  หมายถึง  การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น  โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

           4.  เงื่อนไขการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน  กล่าวคือ

                            4.1  เงื่อนไขความรู้   ประกอบด้วย  ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน  ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน  เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

                              4.2  เงื่อนไขคุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม  มีความซื้อสัตย์สุจริต  และมีความอดทน  มีความเพียร  ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต  ไม่โลภและไม่ตระหนี่

              5.  แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมา

ประยุกต์ใช้  คือ  การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน  พร้อมรับต้องการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน  ทั้งด้าน เศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  ความรู้และเทคโนโลยี

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ  เพราะจะทำให้เกิดผลดีต่อประชาชน  ชุมชน  และสังคมประเทศชาติ  ดังนี้

              1.  ความสำคัญของครอบครัวสมาชิกในครอบครัวดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  เพราะปฏิบัติตามหลักพออยู่พอกิน  พอใช้  ส่งผลให้ไม่ยากจน  ไม่มีหนี้สิน  มีเงินออม  และพึ่งตนเองได้

             2.  ความสำคัญต่อชุมชนมีการรวมกลุ่มสร้างงานและอาชีพและนำทรัพยากรของชุมชนมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ  เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ  สมาชิกในชุมชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

              3.  ความสำคัญต่อสังคมประเทศชาติทำให้สังคมเข้มแข็ง  ผู้คนมีอาชีพที่และรายได้ที่มั่นคง  สมาชิกในสังคมร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญาและพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

กับการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับ  ทุกสาขา  ทุกภาคของเศรษฐกิจ  ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคเกษตร หรือภาคชนบท  แม้แต่ภาคการเงิน  ภาคอสังหาริมทรัพย์และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ  โดยมีหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ  เน้นการปฏิบัติอย่างพอเพียง  มีเหตุมีผล  และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม

1.  การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเกษตรกรรม

เมื่อปี  พ.ศ. 2538  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติเพื่อยกฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  เรียกว่า  การเกษตรทฤษฎีใหม่  หรือ  ทฤษฎีใหม่  ซึ่งมีหลักปฏิบัติ  3  ขั้น  ดังนี้

        ขั้นที่  1  ผลิตอาหารเพื่อบริโภค

แนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่  เน้นให้เกษตรกรสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ครอบครัวตนเองก่อน  โดยทำนาข้าวเพื่อเก็บไว้กินตลอดปี  เหลือจากการบริโภคจึงขาย

โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองทฤษฎีใหม่ในที่ดินส่วนพระองค์  ณ  วัดมงคลชัยพัฒนา  อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี  จำนวน 15  ไร่  โดยแบ่งพื้นที่เป็น  4  ส่วนตามอัตราส่วน  30 : 30 : 30 : 10

เน้นการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ  ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการเกษตรทฤษฎีใหม่  ดังนี้

ร้อยละ  30  ของพื้นที่        ขุดสระน้ำไว้ใช้สอยและเลี้ยงปลา

ร้อยละ  30  ของพื้นที่        ทำนาข้าว

ร้อยละ  30  ของพื้นที่        ปลูกไม้ยืนต้น  พืชไร่  พืชสวนครัว

ร้อยละ  10  ของพื้นที่        ปลูกบ้าน  โรงนาเก็บอุปกรณ์ โรงเลี้ยงสัตว์

            ขั้นที่  2 รวมตัวจัดตั้งกลุ่ม  ชมรมหรือสหกรณ์

เกษตรกรจะพัฒนาไปสู่ระดับพออยู่พอกินพอใช้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  มีรายได้จากผลผลิตเพิ่มมากขึ้น  โดยร่วมมือจัดตั้งเป็นกลุ่ม  ชมรม  หรือ สหกรณ์  ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน  ดังนี้

              (1)  ด้านการผลิต  มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้าน  ชมรม  หรือสหกรณ์  ผลิตสินค้าหรือบริการของชุมชนเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวอีกทางหนึ่ง  เช่น  งานหัตถกรรม

               (2)  ด้านการตลาด  ร่วมกันสร้างอำนาจต่อรองในการจำหน่ายผลผลิตให้ได้ราคาดี

ไม่พึ่งพ่อค้าคนกลาง

(3)  ด้านสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่   มีการจัดตั้งกองทุนให้สมาชิกกู้เงินยามฉุกเฉิน  เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามเจ็บไข้ได้ป่วย  เกิดอุบัติเหตุ  หรือประสบภัยธรรมชาติต่าง ๆ

          ขั้นที่  3  ร่วมมือกับองค์กรหรือภาคเอกชนภายนอกชุมชน

เป็นขั้นพัฒนากลุ่ม  ชมรม  หรือสหกรณ์ให้ก้าวหน้า  โดยกู้เงินจากแหล่งเงินทุนภายนอกชุมชนมาลงทุนขยายกิจการ  เช่น  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธกส.)  บริษัทน้ำมัน  ฯลฯ  หรือขอความช่วยเหลือด้านวิชาการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

เป้าหมายของขั้นที่  3  คือ  พัฒนากิจการสหกรณ์  จัดตั้งและบริหารโรงสีข้าวของชุมชน  ปั๊มน้ำมันของชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น  พัฒนาคุณภาพของเกษตรกรให้อยู่ดีกินดี  จำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูง  ไม่ถูกกดราคา  ซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ในราคาถูก  เป็นต้น

ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้นำไปปฏิบัติ  ดังนี้

            (1) การพึ่งตนเองทฤษฎีใหม่เน้นให้เกษตรกรผลิตพืชผลข้าวปลาอาหารให้มีเพียงพอสำหรับใช้บริโภค ภายในครอบครัวก่อน  ส่วนที่เหลือจึงนำไปขายในตลาดเป็นรายได้ของครอบครัว  เกษตรกรรู้จักพึ่งตนเองและเลี้ยงครอบครัวได้  มีอาหารกินตลอดปี  และไม่มีภาระหนี้สิน

            (2)  ชุมชนเข้มแข็งทฤษฎีใหม่เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกร  เพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อเพิ่มพูนรายได้  เช่น  แปรรูปผลผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูป  การทำสินค้าหัตถศิลป์ ฯลฯ  ช่วยให้ครอบครัวเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น  เป็นผลให้เศรษฐกิจของชุมชนเข้มแข็งตามมา

           (3)  ความสามัคคีทฤษฎีใหม่เน้นความสามัคคีในหมู่คณะ  สนับสนุนให้เกษตรกรในท้องถิ่นช่วยเหลือและร่วมมือซึ่งกันและกัน  ทั้งในด้านอาชีพ  ถ่ายทอดความรู้  และพัฒนาความเจริญให้ท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น  อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   สืบสานภูมิปัญญา และวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น  เป็นต้น

2.  การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคอุตสาหกรรมการค้า  และ              

     การบริการ

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจเอกชน  ทั้ง     ภาคอุตสาหกรรม  การค้า  และการบริการ  ดังนี้

1)  ความพอประมาณผู้ประกอบการควรยึดแนวทางปฏิบัติ  ดังนี้

(1)  พอประมาณในการผลิต   ไม่ผลิตสินค้ามากเกินความต้องการของผู้บริโภคจนเหลือล้นตลาด  ถือเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน  และทรัพยากรในการผลิต

(2)  พอประมาณในผลกำไร  ไม่ค้ากำไรเกินควรจนผู้บริโภคเดือดร้อน  ไม่กดราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร  มีการแบ่งปันผลกำไรส่วนหนึ่งไปพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานและองค์กรของตน  รวมทั้งคืนกำไรสู่สังคม  โดยตอบแทนช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ

2)  ความมีเหตุผลแนวทางปฏิบัติ  ดังนี้

(1)  มีเหตุผลในการพัฒนาองค์กร  โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในองค์กร ทั้งพนักงาน  ลูกจ้าง  และผู้ใช้แรงงาน  ตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งพัฒนาคุณภาพสินค้า และเพิ่มปริมาณผลผลิต  เป็นต้น

(2)  มีเหตุผลในการจัดสวัสดิการให้พนักงาน  ลูกจ้าง  และผู้ใช้แรงงานอย่า

3)  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญและนำไปปฏิบัติ  ดังนี้

(1)  ติดตามข่าวสาร  และสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของตน  เช่น  ความผันผวนทางเศรษฐกิจ  การเมือง  และความเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศและภัยธรรมชาติ  เป็นต้น  เพื่อให้สามารถตัดสินใจบริหารองค์กรธุรกิจของตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด

(2)  การกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อดำเนินธุรกิจหรือขยายกิจการ ต้องดูตามกำลัง  ฐานะของตน  ไม่ทำ อะไรเกินตัว มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหายได้

(3)  มีเงินออมหรือเงินเก็บเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน  โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กซึ่งต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด  ควรจัดสรรผลกำไรส่วนหนึ่งเป็นเงินออมเพื่อให้มีใช้จ่ายเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

4)  เงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรมมีแนวทางปฏิบัติ  ดังนี้

(1)  ดำเนินธุรกิจภายใต้คุณธรรม  เช่น  ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค  รักการให้บริการแก่ลูกค้า  และเอาใจใส่พนักงาน  โดยจัดอบรมด้านคุณธรรมเป็นระยะ ๆ

(2)  มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม  ไม่ทำให้เกิดปัญหามลพิษในแหล่งน้ำ  ดิน  อากาศ  ฯลฯ  และมีส่วนร่วมกับชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม  เช่น   สนับสนุนกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนกับโรงเรียนในชุมชน

3.  การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับนักเรียนและประชาชนทั่วไป

          นักเรียนและประชาชนทั่วไปควรยึดหลักปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว  ดังนี้

(1)  พึ่งตนเองมีจิตสำนึกที่ดีในการใช้จ่ายเงิน  รู้จักประหยัด  ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่ฟุ้งเฟ้อหรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  ไม่หลงใหลกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมทางวัตถุ  และมีวินัยในการ   ออมเงิน  เป็นต้น

(2)  ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพสุจริตเพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้ตนเองและครอบครัว  หรือรู้จักหารายได้ระหว่างเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง

(3)  ใฝ่ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อพัฒนาทักษะ  ความสามารถ และประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ  เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเพียงพอต่อการดำรงชีพ








    hhhjๅพภพqnhGvdeV0jA3เเเ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น