วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

เศรษฐกิจพอเพียงกับเกษตรทฤษฎีใหม่


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร
ทฤษฎีใหม่ แนวทางการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน




ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในปัจจุบัน และการประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะในเขตที่ใช้น้ำฝนทำนาเป็นหลัก เกษตรกรจะมีความเสี่ยงสูง เป็นเหตุให้ผลผลิตข้าวอยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ด้วยพระอัจฉริยะในการแก้ปัญหา จึงได้พระราชทาน "ทฤษฎีใหม่" ให้ดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ประมาณ ๑๕ ไร่ ด้วยวิธีการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาอย่างเหมาะสม ด้วยการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยให้มีการจัดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้มีรายได้ใว้ใช้จ่ายและมีอาหารใว้บริโภคตลอดปี (กรมวิชาการ, ๒๕๓๙: ๗๗) ซึ่งได้ดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อการผลิตทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า "…ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน…" (สำนักพระราชวัง, ๒๕๔๒: ๓๑)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด ๑๖ ไร่ ๒ งาน ๒๓ ตารางวาใกล้วัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และทรงมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาที่ทรงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมโครงการของรัฐ ทั้งนี้ก่อนที่จะทรงนำเอกสารออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ นั้น ทรงให้จัดตั้ง "ศูนย์บริหารพัฒนา" ตามแนวพระราชดำริ อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรโดยประสานความร่วมมือระหว่าง วัด ราษฎรและรัฐ ทำการเผยแพร่อาชีพการเกษตรและจริยธรรมแก่ประชาชนในชนบท โดยทรงหวังว่าหากประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นแนวทางสาธิตในท้องที่อื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาด้านการเกษตรนั้น ก็คือแนวคิดและมรรควิธีที่รู้จักกันในนาม "เกษตรทฤษฎีใหม่" (อำพล, ๒๕๔๒: ๓-๔)

พระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินการทฤษฎีใหม่ ได้พระราชทานขั้นตอนดำเนินงาน ดังนี้
ขั้นที่ ๑ ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น สถานะพื้นฐานของเกษตรกร คือ มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นที่ ๑ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น ๔ ส่วน ตามอัตราส่วน ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ ๓๐% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย) พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ ๓๐% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ ๓๐% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ ๑๐% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)
ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น "พออยู่พอกิน" ไปสู่ขั้น "พอมีอันจะกิน" เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ (มูลนิธิชัยพัฒนา, ๒๕๔๒)

ขั้นที่ ๒ ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
(๑) การผลิต เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
(๒) การตลาด เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
(๓) ความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
(๔) สวัสดิการ แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิการและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้ให้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ
(๕) การศึกษา มีโรงเรียนและชุมชนมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
(๖) สังคมและศาสนา ชุมชนควรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว
กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ

ขั้นที่ ๓ ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้น ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุระกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
ธนาคารกับบริษัทสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ ซื้อในราคาขายส่ง)ธนาคารกับบริษัทจะสามารถกระจายบุคลากร (เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น)ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ไปทำการทดลองขยายผล ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิต จำนวน ๒๕ แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพภาค กระทรวงกลาโหม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการดำเนินงานให้มีการนำเอาทฤษฎีใหม่นี้ไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยใช้แนวคิดแห่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารงานในการทำการเกษตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ของประเทศไทย ได้ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้มีชีวิตอยู่โดยหลุดพ้นบ่วงแห่งความยากจน โดยหลักการคือ การแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกนั้น ให้ขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 30% ของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากการเกษตร จำเป็นต้องใช้น้ำ ส่วนที่สอง ให้ปลูกข้าว จำนวน 30% ของพื้นที่เพราะครอบครัวต้องกินต้องใช้ สำหรับเป็นแหล่งอาหารหลัก ส่วนที่สาม ให้ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น เก็บดอกผลไว้กินไว้ขาย เสริมสร้างรายได้ส่วนหนึ่งอีกทาง และส่วนที่สี่ เป็นพื้นที่สำหรับใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างเช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ฉาง จำนวน 10% ของพื้นที่ จำนวนสัดส่วนของพื้นที่นี้ทั้งหมดสามารถปรับเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แต่ละแห่งได้ตามสะดวก ตัวอย่างคือ มีที่นาอยู่ที่ 4 ไร่ จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน อาจจะได้ประมาณส่วนละ 1 ไร่ แต่ให้พิจารณาถึงความจำเป็นและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วย หากพื้นที่โดยรอบแห้งแล้วกันดาร ให้เผื่อเนื้อที่ของการปลูกต้นไม้ยืนต้นและสระเก็บน้ำมากหน่อย เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งจำเป็น และหากมีแต่น้ำแต่ผืนดินไม่ชุ่มชื้นเพราะขาดต้นไม้ให้ร่มเงา น้ำก็จะขาดแคลน การแบ่งพื้นที่ดังตัวอย่างมีดังนี้ พื้นที่ส่วนที่ 1 จำนวน 1.2 ไร่ ขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 2 สระ สามารถกักเก็บน้ำได้มาก เพียงพอต่อการนำน้ำมาใช้ในการทำการเกษตรได้ทั้งปีแต่การผันน้ำมาใช้นั้น หากพื้นที่กว้างใหญ่ เช่นมีเนื้อที่ประมาณ 12-13 ไร่ การขุดสระโดยใช้พื้นที่ถึง 3-4 ไร่นั้นยังคงต้องใช้เครื่องจักรกลในการสูบน้ำมาใช้ ทำให้สูญเสียพลังงานเชื้อเพลิงจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ถ้าสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ หรือหาพลังงานเชื้อเพลิงอื่นทดแทน หรือมีการวางแผนการใช้น้ำ เช่น หากพื้นที่มีระดับที่ต่างกันมาก สามารถวางท่อนำน้ำออกมาใช้โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำและน้ำมัน เป็นการจัดการทำให้ต้นทุนการเกษตรลดลงได้ในระยะยาว สำหรับพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 1-2 ไร่ สามารถทำเป็นท้องร่องได้โดยกะให้กว้างพอประมาณไม่ให้แคบเกินไปเพราะเนื้อที่แคบน้ำจะขาดแคลน พื้นที่ส่วนที่ 2 ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ปลูกข้าว การปลูกข้าวด้วยพื้นที่ 1 ไร่ควรใช้วิธีการดำนา หรือ การปลูกข้าวต้นเดียว เพราะจะให้ผลผลิตดี ปริมาณมากกว่าการปลูกข้าวแบบหว่านปกติ เนื่องจากการปักข้าวลงดินเองจะทำให้ข้าวมีผลผลิตดี การเตรียมดิน และปักดำโดยใช้ข้าวจ้าวหอมมะลิ 105 ทำการกำจัดวัชพืชในนาข้าว โดยการถอน และไถกลบ เริ่มแรกอาจมีการปลูกพืชตระกูลถั่วก่อนเนื่องจากถั่ว เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย เจริญเติบโตเร็ว หลังเก็บเกี่ยวสามารถไถกลบและซังพืชจะเป็นปุ๋ยชั้นดีให้นาข้าว พื้นที่ส่วนที่ 3 มีทั้งหมด 1.5 ไร่ ปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยสามารถปลูกมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ ปลูกกล้วยน้ำว้า ปลูกพืชผัก ปลูกไม้ใช้สอย เช่น ต้นสัก ต้นไผ่รวก ไผ่ตง หรือ ต้นหวาย โดยทั้งนี้พื้นที่การปลูกอาจใช้พื้นที่ทั้งหมดที่เหลือโดยพื้นที่สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนก็สามารถปลูกคร่อมพื้นที่ส่วนที่ 3 ได้เช่นเดียวกัน พื้นที่ส่วนที่ 4 นี้มีพื้นที่เหลือประมาณ 3 งาน สามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์เล็กๆ ใต้ถุนเรือน หรือผสมผสานในการปลูกบ้านเรือนยกสูงบนสระน้ำ ให้ใต้ถุนเป็นคอกเลี้ยงเป็ดไก่ หมู ติดกับสระน้ำ โดยในน้ำก็มีการเลี้ยงปลาดุกปลานิลผสมกัน เป็นแนวทางการเกษตรแบบพึ่งพาอาศัย เกษตรทฤษฎีใหม่ สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่มาก เกษตรทฤษฎีใหม่ คือแนวทางที่ยั่งยืน โดยที่แต่เดิมจะเหมาะกับเกษตรกรที่มีพื่นที่ทางการเกษตรค่อนข้างมากพอสมควร แต่สำหรับเกษตรกรที่มีมีพื้นที่ไม่มากนัก ก็สามารถที่จะทำได้โดยการลดหลั่นของพื้นที่ทำกินในแบบผสมผสานพึ่งพาอาศัย











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น